วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พลังงานทดแทน

ปี 2551 ราคาน้ำมันขึ้นสูงไปอย่างไม่เคยมีมาก่อน ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ขึ้นสูงถึง 43.35 บาทต่อลิตร

ช่วงเวลานั้น หลายท่านรู้สึกได้ว่า รถยนต์ในถนนน้อยลง ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนตื่นตระหนกและตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องของพลังงานทดแทน ปัจจุบัน (พฤศจิกายน 2551) ราคาน้ำมันลดลงมาจนรู้สึกได้ว่า รถยนต์บนถนนกลับมาติดแน่นเหมือนเดิม แต่ผู้มีสติสัมปชัญญะและปัญญาย่อมทราบว่า การละเลยความสำคัญของการพัฒนาพลังงานทดแทนเป็นความเสี่ยงต่อความเสียหายที่ใหญ่หลวงรออยู่


พลังงานทดแทน หมายถึง พลังงานที่นำมาใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถแบ่งตามแหล่งที่ได้มาเป็น 2 ประเภท คือ พลังงานทดแทนจากแหล่งที่ใช้แล้วหมดไป อาจเรียกว่า พลังงานสิ้นเปลือง ได้แก่ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ นิวเคลียร์ หินน้ำมัน และทรายน้ำมัน เป็นต้น และพลังงานทดแทนอีกประเภทหนึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ ใช้แล้วสามารถหมุนเวียนมาใช้ได้อีก เรียกว่า พลังงานหมุนเวียน ได้แก่ แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล น้ำ และไฮโดรเจน เป็นต้น กลุ่มพลังงานหมุนเวียนที่เป็นที่สนใจและได้รับกล่าวถึงให้ได้ยินอยู่เสมอ ได้แก่ พลังงานจากขยะมูลฝอย พลังงานจากก๊าซชีวภาพของน้ำเสีย พลังงานไบโอดีเซล พลังงานเอทานอล พลังงานไฟฟ้าชีวมวลและพลังงานไฮโดรเจน วันนี้ตั้งใจจะกล่าวถึงพลังงานดาวรุ่งที่ถูกสนใจมากซึ่งพอจะแบ่ง
ได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

๑. กลุ่มพลังงานจากของเสีย ได้แก่พลังงานจากขยะและน้ำเสีย
๒. กลุ่มพลังงานจากชีวมวลหรือพืชเกษตรกรรม ได้แก่ พลังงานไบโอดีเซล พลังงานเอทานอล พลังงานไฟฟ้าจากการเผาชีวมวล
๓. กลุ่มพลังงานในฝัน คือ ไฮโดรเจน

๑. กลุ่มพลังงานจากของเสีย เช่นจากขยะ

จากน้ำเสียที่มีสารอินทรีย์สูงเช่นน้ำเสียจากฟาร์มสุกร โรงงานมัน โรงงานปาล์ม ของเสียเหล่านี้เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการมาตลอด จนกระทั่งมีการพัฒนาให้สามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนได้ ขยะผ่านกระบวนการสามารถผลิตไฟฟ้าหรือสร้างก๊าซชีวภาพซึ่งสามารถใช้งานใกล้เคียงกับก๊าซธรรมชาติ ขยะพลาสติกอาจจะนำไปผลิตเป็นน้ำมัน สุดยอดความน่าสนใจของพลังงานกลุ่มนี้คือ การเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เปลี่ยนค่าใช้จ่ายในการกำจัด(อย่างถูกต้อง)เป็นพลังงานซึ่งลดค่าใช้จ่ายหรืออาจจะเพิ่มรายได้ ความน่ากังวลของกลุ่มพลังงานนี้อยู่ที่ทัศนคติของผู้ถือสิทธิในของเสียที่เริ่มจะมองเห็นมูลค่า เริ่มจะไม่มองของเสียเหล่านี้เป็นภาระที่จะต้องจ่ายเงินเพื่อกำจัด

หากแต่มองว่าเป็นเหมืองทองที่รอบุกเบิกและคอยจะโก่งค่าตัวของเสียเหล่านี้แบบเล็งผลเลิศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ถือสิทธิในขยะ ทำให้ผู้พัฒนาโครงการที่ไม่ใช่เป็นผู้ถือสิทธิในของเสียไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากต้นทุนของเทคโนโลยีค่อนข้างสูงและมีความเสี่ยงจากความแปรปรวนของของเสียสูง นับเป็นการเสียโอกาสของประเทศ

๒. กลุ่มพลังงานจากชีวมวลหรือพืชเกษตรกรรม

ได้แก่ ไบโอดีเซล ผลิตจาก น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันสบู่ดำ น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันละหุ่ง น้ำมันงาน้ำมันพืชใช้แล้ว เอทานอลผลิตจากพืชประเภทแป้ง น้ำตาล และเส้นใย เช่น ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง มันฝรั่ง มันเทศ อ้อย กากน้ำตาล บีตรูต ข้าวฟ่างหวาน ฟางข้าว ชานอ้อย ซังข้าวโพด รำข้าว สามารถมาทดแทนน้ำมันดีเซลและเบนซินได้ เทคโนโลยีการผลิตไบโอดีเซลมีตั้งแต่ขนาดใหญ่ลงทุนสูงจนถึงขนาดเล็กที่ชาวบ้านพอจะผลิตใช้เองได้ แต่การผลิตเอทานอลลงทุนค่อนข้างสูง

การพัฒนาพลังงานทดแทนจากไบโอดีเซลและเอทานอลถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเบียดเบียนแหล่งอาหารของโลกและอาจจะทำให้เกิดการรุกป่าครั้งใหญ่ เพราะจะต้องมีการส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานให้มากพอที่จะทำให้ราคาวัตถุดิบต่ำลง ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลและเอทานอลสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการพัฒนาไบโอดีเซลและเอทานอล การผลิตจากผลพลอยได้ของสินค้าอื่นเช่น น้ำมันพืชใช้แล้ว โมลาส (ผลพลอยได้จากโรงงานผลิตน้ำตาล) ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าทั้งในแง่ต้นทุนและผลกระทบด้านอื่นๆ แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากการเผาชีวมวล คือการนำชีวมวลที่เผาได้ เช่น เศษไม้และเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร พวกแกลบ เหง้ามัน เหง้าไม้ ตอไม้ ฟางข้าง ซึ่งอาจจะเผาเพื่อนำความร้อนไปใช้หรือเพื่อให้เกิดก๊าซเชื้อเพลิง (Gasification) แล้วนำไปผลิตไฟฟ้า ความเสี่ยงเรื่องราคาวัตถุดิบก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ จะเห็นว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้แกลบเป็นโรงแรกๆ ตั้งขึ้นในขณะที่ราคาแกลบตันละร้อยกว่าบาทจนปัจจุบันราคาเกือบพันบาท ทำให้กิจการของโรงไฟฟ้าแกลบมักจะเป็นส่วนหนึ่งของโรงสีข้าว การเลือกวัตถุดิบให้เหมาะสมกับเทคโนโลยี ตำแหน่งที่ตั้ง และการบริหารจัดการวัตถุดิบเป็นปัจจัยสำคัญของโรงไฟฟ้าชีวมวล


๓. กลุ่มพลังงานในฝัน

คือ ไฮโดรเจน ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น การใช้พลังงานจาก ๒ กลุ่มแรกแม้จะเป็นพลังงานทดแทนแต่ก็ยังใช้การสันดาปเชื้อเพลิงเพื่อให้เกิดกำลัง อย่างน้อยก็เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำให้โลกร้อนขึ้น

แต่พลังงานไฮโดรเจนถือได้ว่าเป็นเชื้อเพลิงสะอาด ทั้งนี้แม้ว่าจะเกิดการสันดาปกับก๊าซออกซิเจน จะมีเพียงไอน้ำเป็นผลพลอยได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำก๊าซไฮโดรเจนไปผลิตกระแสไฟฟ้าโดยป้อนเข้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel cell) ซึ่งขณะนี้นักวิจัยทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมากในการพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงมาประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ ดังนั้นพลังงานไฮโดรเจนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ทดแทนพลังงานดั้งเดิมได้ ประเทศ ไอซ์แลนด์เป็นประเทศแรกของโลกที่ออกกฎหมายบังคับว่า อีกสิบปีข้างหน้า รถยนต์ส่วนบุคคลทุกคัน จะต้องเป็นรถพลังไฮโดรเจน ในประเทศไทยมีนักประดิษฐ์ที่นำเอาไฮโดรเจนไปในรถยนต์ทั้งแบบที่ป้อนเข้าเซลเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าไปหมุนมอเตอร์เพื่อหมุนล้อ และแบบที่นำไฮโดรเจนไปสันดาปร่วมกับเชื้อเพลิงอื่นเช่น น้ำมันเบนซิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น