วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การดูดกากตะกอนในถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป

การดูดกากตะกอนในถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป
ความเข้าใจในถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป
โดยทั่วไปแล้วถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแบบถังแยกหรือแบบถังรวม จะประกอบไปด้วย ส่วนประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ถังเกรอะหรือส่วนเกรอะ ( SEPTIC TANK or SOLID SEPARATION TANK ) จะเป็นถังแรกหรือส่วนแรกที่จะรับน้ำเสีย ทำหน้าที่แยกของแข็งที่ปนมากับน้ำเสียออก และจะมีกระบวนการย่อยสลายของแข็งหรือสารอินทรีย์ขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง โดยเชื้อจุลินทรีย์มี่มีอยู่ภายในถังส่วนนี้ ของแข็งหรือตะกอนที่เหลือจากการย่อยสลายจะถูกเก็บกักไว้ในถัง เพื่อรอการกำจัดโดยวิธีการดูดกากตะกอนไปทิ้งต่อไป สำหรับน้ำเสียที่ผ่านการแยกของแข็งบางส่วนออกแล้ว จะไหลผ่านเข้าไปสู่ส่วนที่ 2 ต่อไป
ส่วนที่ 2 จะแบ่งเป็น 2 ชนิด แล้วแต่การเลือกใช้ คือ
ส่วนที่ 2.1 ถังกรองชนิดไม่เติมอากาศ (ANAEROBIC FILTER) ในถังหรือส่วนกรองชนิดไม่เติมอากาศนี้ ส่วนใหญ่จะมีตัวกลางพลาสติกสำหรับให้เชื้อจุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ต้องการใช้ออกซิเจนอาศัยเกาะตัวอยู่เพื่อทำหน้าที่ย่อยสลายของแข็งหรือสารอินทรีย์ขนาดเล็กที่แขวนลอยปนอยู่ในน้ำเสียซึ่งไหลผ่านมาจากส่วนที่ 1 ถังเกรอะหรือส่วนเกรอะ ให้กลายเป็นน้ำใสที่ผ่านการบำบัดแล้วสามารถปล่อยทิ้งลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะได้
ส่วนที่ 2.2 ถังกรองชนิดเติมอากาศ (AEROBIC FILTER) เช่นเดียวกันกับส่วนที่ 2.1 เพียงแต่ว่าในถังหรือส่วนกรองชนิดเติมอากาศนี้ จะให้เชื้อจุลินทรีย์ชนิดที่ต้องการใช้ออกซิเจนเพื่อทำหน้าที่ย่อยสลายของแข็งหรือสารอินทรีย์ขนาดเล็กที่แขวนลอยปนอยู่ในน้ำเสีย จึงต้องมีเครื่องเติมอากาศทำหน้าที่เป่าอากาศเข้าไปในถังบำบัดฯ ส่วนนี้โดยผ่านทางท่อเติมอากาศ เป็นการเพิ่มออกซิเจนในน้ำให้เพียงพอสำหรับกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์แบบใช้ออกซิเจน น้ำใสที่ผ่านการบำบัดนี้แล้วจะมีคุณภาพที่ดีกว่าน้ำใสจากกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์แบบไม่ใช้ออกซิเจน
จะเห็นได้ว่าในกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ทั้ง 2 แบบนี้ไม่ก่อให้เกิดตะกอนสะสมขึ้นมากนัก จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีการดูดกากตะกอนในถังหรือส่วนกรองเลย
ดังนั้นการดูดกากตะกอนจะทำเฉพาะในถังบำบัดส่วนที่ 1 (ถังเกรอะหรือส่วนเกรอะ) เท่านั้น

การทำงานของถังเกรอะหรือส่วนเกรอะ
เมื่อน้ำเสียไหลเข้ามาในถังส่วนนี้แล้ว ส่วนประกอบที่เป็นของแข็งจะถูกกระบวนการย่อยสลายของแข็งหรือสารอินทรีย์ขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง โดยเชื้อจุลินทรีย์มี่มีอยู่ภายในถังส่วนนี้ ของแข็งส่วนหนึ่งจะตกตะกอนลงก้นถังบำบัดฯ บางส่วนจะลอยอยู่ที่ผิวหน้าของถัง ทำให้แยกส่วนออกเป็น 3 ชั้น ประกอบด้วย
ส่วนผิวหน้าของถัง - ตะกอนลอย(SCUM) เป็นส่วนประกอบของ ไขมัน น้ำมันจากอาหาร สบู่ และสารประกอบที่เกิดขึ้นหลังจากการย่อยสลายของสารอินทรีย์ในน้ำเสีย ที่มีน้ำหนักเบากว่าน้ำ
ส่วนกลางถัง - จะเป็นน้ำเสียที่มีของแข็งหรือสารอินทรีย์ขนาดเล็กแขวนลอยปนอยู่ และจะเป็นส่วนที่จะต้องไหลผ่านไปยังถังบำบัดฯ ส่วนที่ 2 ต่อไป
ส่วนก้นถัง - ตะกอนหนัก (SLUDGE) ประกอบด้วย ตะกอนที่ได้จากการย่อยสลายของสารอินทรีย์ในน้ำเสีย และสารประกอบอื่นๆ ที่หนักน้ำ จึงตกลงสู่ก้นถังบำบัดฯ

ขั้นตอนของการดูดกากตะกอน
เริ่มจากการตกลงว่าจ้างรถสูบส้วมที่มีใบอนุญาตถูกต้องจากหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกรถคันที่มีประสบการณ์ในการดูดกากตะกอนในถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปมาแล้ว
เมื่อรถมาพร้อมแล้ว ต้องมีการแจ้งความต้องการและทำความเข้าใจกับพนักงานประจำรถ ว่าการดูดกากตะกอนในถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปนั้น ไม่ใช่การดูดทั้งกากตะกอน และน้ำออกจากถังจนหมด แต่จะเป็นการดูดเฉพาะตะกอนลอยที่ส่วนผิวหน้าของถัง และตะกอนหนักที่อยู่ส่วนก้นถังเท่านั้น เมื่อดูดตะกอนทั้ง 2 ส่วนจนหมดแล้วก็ให้หยุดการดูดทันที เพราะการดูดน้ำออกจากถังทั้งหมด จะเกิดความเสี่ยงที่ถังบำบัดฯอาจจะได้รับความเสียหายจาก แรงดันดินด้านข้าง และแรงยกจากระดับน้ำใต้ดิน เนื่องจากปราศจากน้ำภายในถังที่จะสามารถป้องกันความเสียหายจากแรงดังกล่าวได้
เมื่อเปิดฝาถังบำบัดน้ำเสียออกแล้ว ให้ตรวจสอบระดับน้ำในถังบำบัดฯ เปรียบเทียบกับ ระดับท้องท่อทางออกจากถัง ถ้าระดับน้ำในถังบำบัดฯ สูงกว่าระดับท้องท่อทางออก ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า มีการอุดตันในท่อทางออก หรือปลายท่อมีสิ่งกีดขวางอยู่ ทำให้การไหลของน้ำออกจากถังไม่สะดวก ควรตรวจสอบหาทางแก้ไข
ก่อนทำการดูดตะกอนที่ลอยอยู่ส่วนผิวหน้าของถัง ต้องทำให้แผ่นตะกอนที่จับตัวกันอยู่นั้นแตกออกจากกันก่อน อาจโดยการฉีดน้ำใส่ หรือหาวัสดุอื่น เช่น ไม้ ตีให้แตกออกจากกัน
สำหรับการดูดตะกอนก้นถังบำบัดฯ ต้องแหย่ปลายท่อดูดลงไปจนถึงก้นถังเพื่อให้ดูดตะกอนได้หมดและทั่งถึง
ขณะที่ดูดตะกอนนั้นสิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ ต้องมีการเพิ่มน้ำเข้าไปในถังบำบัดฯ ด้วย เช่น การกดชักโครกบ่อยๆ การเปิดก๊อกน้ำที่จะผ่านท่อมาลงถังบำบัดฯ ที่กำลังดูดตะกอนอยู่ รวมถึงการต่อน้ำโดยใช้สายยางจากบริเวณใกล้เคียงให้ไหลลงถังบำบัดฯ ที่เปิดฝาอยู่ ทั้งนี้เพื่อรักษาระดับน้ำภายในถังบำบัดฯ ให้อยู่ในระดับสูงที่สุด เป็นการป้งกันความเสียหายของถังบำบัดฯ
หลังจากดูดตะกอนเสร็จแล้ว ให้เพิ่มน้ำเข้าไปในถังจนเต็ม และต้องไม่ลืมจดบันทึกรายละเอียดของการดูดกากตะกอนครั้งนี้ไว้ เช่น วันเดือนปี หมายเลขรถสูบส้วม ชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อพนักงานประจำรถ เพื่อความสะดวกสำหรับการดูดกากตะกอนครั้งต่อไป โดยปกติจะต้องดูด ประมาณ 1- 2 ปีต่อครั้ง

ข้อควรปฏิบัติในการยืดระยะห่างของการดูดกากตะกอน
แม้ว่าการบำรุงรักษาถังบำบัดฯ ด้วยการดูดกากตะกอน จะเป็นสิ่งที่จะต้องทำเป็นประจำในทุกๆ 1-2 ปี แต่ก็มีข้อควรปฏิบัติในการยืดระยะห่างของการดูดกากตะกอนออกไปได้โดยยังคงประสิทธิภาพการบำบัดไว้ได้ เช่น
สิ่งที่ควรทิ้งและไม่ควรทิ้งลงในโถส้วม นอกจากกระดาษชำระ(Toilet Paper) แล้ว ไม่ควรทิ้งสิ่งอื่นใดลงในโถส้วมเลย ไม่ว่าจะเป็น ผ้าอนามีย ผ้าอ้อมแบบใช้แล้วทิ้ง ก้นบุหรี่ หรือแม้กระทั่งกระดาษทิชชูสำหรับเช็ดหน้า เช็ดปาก เป็นต้น
ไม่ทิ้งเศษอาหารลงในโถส้วม ถังบำบัดน้ำเสียไม่ได้ออกแบบมา เพื่อ่ให้กำจัดเศษอาหาร ดังนั้นควรแยกเศษอาหารทิ้งลงถังขยะก่อนทุกครั้ง
ระวังการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อจำนวนมากเกินไปจะทำให้เชื้อจุลินทรีย์ภายในถังบำบัดฯ ลดจำนวนลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสียลดลงตามไปด้วย
ลดการใช้น้ำ ปริมาณน้ำที่มากขึ้น หมายถึงการเพิ่มภาระให้กับถังบำบัดฯ ทำให้ระยะเวลาเก็บกักในถังบำบัดฯลดลง ประสิทธิภาพการบำบัด ก็ลดลง

ปัจจัยที่มีผลต่อระยะห่างของการดูดกากตะกอน
1. ความหนาของชั้นตะกอนลอย (SCUM) ที่ผิวหน้าของถังบำบัด
2. ความหนาของชั้นตะกอนหนัก (SLUDGE) ที่ก้นถังบำบัด
3. ขนาดของถังบำบัดฯ ถังที่มีขนาดเล็กก็ต้องดูดกากตะกอนบ่อยกว่าถังขนาดใหญ่
4. ปริมาณน้ำเสีย ขึ้นอยู่กับ จำนวนผู้ใช้น้ำ และปริมาณการใช้น้ำ ถ้าปริมาณน้ำเสียมาก ก็จะทำให้ประสิทธิภาพในการย่อยสลายของแข็งหรือสารอินทรีย์ในน้ำเสียของเชื้อจุลินทรีย์ลดลง ตะกอนก็จะสะสมมากขึ้น
5. ปริมาณของแข็งในน้ำเสีย เช่น เศษขยะ เศษอาหารที่ปนมาในน้ำเสีย

ต้องมีการดูดกากตะกอนหรือไม่ และทำไม
จำเป็นจะต้องมีการดูดกากตะกอนในถังเกรอะเป็นประจำในทุกๆ 1-2 ปี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสีย ในที่นี้หมายถึงการลดปริมาณของแข็งหรือสารอินทรีย์ขนาดใหญ่ ที่ตกตะกอนลงก้นถังเกรอะและลอยตัวจับกันอยู่ที่ผิวหน้าของถังเกรอะ และป้องกันไม่ให้ตะกอนเหล่านี้หลุดเข้าไปในส่วนของถังกรอง ทำให้ประสิทธิภาพการบำบัดลดลง และอาจทำให้ตัวกลางพลาสติกเกิดการอุดตันได้

เมื่อไรจึงจะต้องดูดกากตะกอนในถังเกรอะ
โดยปรกติแล้วจะต้องมีการดูดกากตะกอนในถังเกรอะเป็นประจำในทุกๆ 1-2 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
ขอแนะนำว่า ควรจะดูดกากตะกอนในถังเกรอะช่วงหน้าแล้ง หรือช่วงที่ฝนไม่ตก พื้นดินแห้ง ไม่อุ้มน้ำ ระดับน้ำใต้ดินจะต่ำ เพราะเมื่อมีดูดกากตะกอนในถัง ระดับน้ำในถังก็ต้องลดลง ถ้าเป็นช่วงหน้าแล้ง แรงดันดินด้านข้างและแรงยก จะมีไม่มากเท่ากับในช่วงที่มีฝน ถังบำบัดฯ ก็จะไม่ได้รับความเสียหาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น